‘โรคข้อเข่าเสื่อม’ เป็นโรคข้ออักเสบที่เกิดเมื่อตัวรองรับแรงตามธรรมชาติอย่างกระดูกอ่อนเกิดการสึกหรอ เมื่อเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว กระดูกของข้อเข่าจะเกิดการเสียดสีกันโดยที่ไม่มีกระดูกอ่อนมารองรับแรง การเสียดสีทำให้เกิดอาการปวด บวม ข้อติดขัด เหยียดงอได้น้อยลง หรือเกิดกระดูกงอกขึ้นมา

สาเหตุของ โรคข้อเข่าเสื่อม

โรคข้อเสื่อมเกิดเมื่อกระดูกอ่อนที่ทำหน้าที่รับแรงกระแทกของกระดูก 2 ชิ้น และทำให้การเคลื่อนไหวมีแรงเสียดทานที่ต่ำ ค่อยๆ เสื่อมสภาพ ร่วมกับการสูญเสียคุณสมบัติของน้ำหล่อเลี้ยงเข่า ท้ายที่สุดแล้วเมื่อกระดูกอ่อนสลายจนหมด กระดูกจะต้องสีกันเองและเกิดการสึกหรอของกระดูกตามมา ผิวของกระดูกอ่อนที่ไม่เรียบก็จะทำให้มีเสียงดังเวลาขยับข้อเข่า เมื่อเป็นมากขึ้น ทำให้เริ่มมีอาการเข่าโกง หากปวดและเดินได้น้อยลงกล้ามเนื้อรอบเข่าจะมีขนาดเล็กลงไปอีก ทำให้เหยียดงอเข่าได้น้อยลง

โดยทั่วไปโรคข้อเข่าเสื่อมมักหมายถึง การสลายของกระดูกอ่อน แต่แท้ที่จริงแล้วนอกเหนือจากนี้ การเสื่อมนี้ยังรวมไปถึงกระดูก เนื้อเยื่อ และกล้ามเนื้อที่เกาะอยู่บนกระดูกนั้นๆ ด้วย ซึ่งหากมีการอักเสบของเนื้อเยื่อข้อเข่ามากขึ้น จะมีการสร้างน้ำข้อเข่ามากขึ้นทำให้มีการบวมตึง

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิด โรคข้อเข่าเสื่อม
  • อายุ :
    เป็นสาเหตุที่พบได้มากที่สุด ความเสี่ยงข้อเข่าเสื่อมจะเพิ่มขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น เนื่องจากกระดูกอ่อนจะมีความสามารถในการฟื้นฟูที่ลดลงตามวัย โดยทั่วไปโอกาสเกิดข้อเข่าเสื่อมจะมากขึ้นหลังจากอายุ 45 ปี โดยจากสถิติที่อายุ 60 ปี จะเป็นโรคข้อเข่าเสื่อมได้ถึงร้อยละ 40
  • เพศ :
    เพศหญิง มีความเสี่ยงที่ที่จะเป็นโรคนี้ได้มากกว่าเพศชาย ซึ่งรายงานว่าอาจจะเกี่ยวกับระดับฮอร์โมนที่ไม่เท่ากัน
  • ความอ้วน :
    น้ำหนักที่เยอะจะทำให้ข้อเข่าต้องรับแรงมากขึ้น มีรายงานพบว่าทุก 1 กิโลกรัม ที่เพิ่มขึ้นทำให้เข่ารับน้ำหนักเพิ่มขึ้น 3-4 กิโลกรัม นอกจากนี้ชั้นไขมันยังหลั่งสารกระตุ้นการอักเสบออกมาทำลายข้อเข่าได้อีกด้วย
  • การใช้งาน :
    ในอาชีพหรือบางกีฬาที่มีแรงส่งผ่านข้อเข่ามาก ทำให้เกิดความเครียดต่อกระดูกอ่อน ทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคข้อเข่าเสื่อมเพิ่มขึ้น ตัวอย่างกิจกรรม ได้แก่ คุกเข่า นั่งยองๆ ยกของหนัก (มากกว่า 25 kg.)
  • พันธุกรรม :
    บางยีนที่ส่งผลให้เกิดข้อเข่าเสื่อมมากชึ้น สาเหตุอาจจะเนื่องจากยีนบางยีนมีผลต่อรูปร่างของกระดูกรอบข้อเข่า ซึ่งจะพบในการเสื่อมของข้อนิ้วมือมากกว่าข้อเข่า
  • การบาดเจ็บของข้อ :
    เมื่อมีการบาดเจ็บของข้อเข่า จะมีการอักเสบและทำให้กระดูกอ่อนสลายมากขึ้น รวมถึงเมื่อเส้นเอ็นของข้อเข่าขาดที่ทำให้ข้อเข่าหลวมส่งผลให้มีการบาดเจ็บที่เรื้อรังต่อไปได้
  • ความผิดปกติของกระดูก :
    การผิดรูป หรือโครงสร้างของกระดูกผิดไป ทำให้แนวแรงที่มาลงผิดปกติ
  • โรคทางเมตาบอลิก :
    การมีสารที่ผิดปกติ ทำให้กระดูกอ่อนเกิดการเสื่อมสลายได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคเหล็กเกิน โรคฮอร์โมนการเขริญเติบโตเกิน และโรครูมาตอยด์ เป็นต้น

ที่มา

โรงพยาบาลสินแพทย์

Scroll to top